เพื่อเปิดทางให้อาชีพนักเขียนมีรายได้มากขึ้นทางแอปพลิเคชันนิยายแชตอย่าง Joylada จึงได้ปรับนโยบายการใช้งานระบบเหรียญบนแอปพลิเคชัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับนักเขียนนิยาย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่ 1 ปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้
1. นิยาย
1.1 รายได้จากการติดเหรียญนิยาย โดยนักเขียนสามารถกำหนดราคาเหรียญที่ตอนนิยายตามความเหมาะสมเพื่อให้นักอ่านปลดล็อกตอนในการเข้าอ่าน ซึ่งผลงานที่ติดเหรียญได้จะต้องเป็นผลงานที่ไม่ผิดเงื่อนไขการติดเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จอยลดาจะปรับให้รายได้จากการติดเหรียญนิยาย 100 เหรียญที่นักเขียนได้รับจะมีค่า 1 บาท (สำหรับนักเขียน) หลังจากหักค่าธรรมเนียมช่องทางการจ่ายเงิน (Gateway) 4% นักเขียนจะได้รับส่วนแบ่งในอัตราส่วน 70% จอยลดาจะได้รับ 30% เป็นค่าบำรุงระบบแอปพลิเคชัน (จากเดิม 50% ต่อ 50%)
1.2 รายได้จากแคนดี้ (Pool Candy) แคนดี้คือไอเท็มที่นักอ่านใช้ปลดล็อกเพื่ออ่านนิยายติดเหรียญได้ฟรี แต่นักเขียนก็ยังได้รับโบนัสตอบแทนเช่นเดิม โดยรายได้จากแคนดี้มาจากค่าโฆษณาที่จอยลดาได้รับจากโปรแกรมโฆษณาอัตโนมัติ (Programmatic Ads) ในแต่ละวัน ค่าโฆษณาในวันนั้นจะถูกนำมาเฉลี่ยตามจำนวนแคนดี้ทั้งหมดที่มีผู้ปลดล็อกนิยายในวันนั้น และคูณจำนวนแคนดี้ที่นักเขียนได้รับจากการปลดล็อกตอนนิยายในวันดังกล่าว
1.3 นักเขียนสามารถเปิดรับกิฟต์ที่นิยาย หรือหน้าโปรไฟล์ของตัวเอง เพื่อให้นักอ่านสนับสนุนค่าขนมตามความพึงพอใจของนักอ่าน รายได้จากการรับกิฟต์ที่นิยายและหน้าโปรไฟล์ 100 เหรียญที่นักเขียนได้รับจะมีค่า 1 บาท (สำหรับนักเขียน) หลังจากหักค่าธรรมเนียมช่องทางการจ่ายเงิน (Gateway) 4% นักเขียนจะได้รับส่วนแบ่งในอัตราส่วน 90% จอยลดาจะได้รับ 10% เป็นค่าบำรุงระบบแอปพลิเคชัน
1.4 รายได้จากยอดจอย (Pool Joy)
นักเขียนที่ไม่ได้ติดเหรียญที่ตอนนิยาย หรือไม่ได้เปิดรับกิฟต์ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากโบนัสที่ได้รับจากยอดจอย แล้วยอดจอยมาจากไหน? ยอดจอยมาจากนักอ่านที่เข้ามาอ่านนิยายนั่นเอง ดังนั้นยิ่งเขียนมากก็จะยิ่งได้ยอดจอยมาก และจะได้รับโบนัสจากยอดจอยมากด้วยเช่นกัน
โดยรายได้จากยอดจอยมาจากค่าโฆษณาที่จอยลดาได้รับจากโปรแกรมโฆษณาอัตโนมัติ (Programmatic Ads) ในแต่ละวัน (ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับ Pool Candy) ค่าโฆษณาในวันนั้นจะถูกนำมาเฉลี่ยด้วยจำนวนจอยทั้งหมดของทุกเรื่องในแอปพลิเคชันที่มีผู้อ่านในวันนั้น และคูณจำนวนยอดจอยที่นักเขียนได้รับจากนิยายในวันดังกล่าว
2. ไลฟ์ (เสียงและวิดีโอ)
2.1 รายได้กิฟต์จากไลฟ์เสียงและวิดีโอ
นักเขียนสามารถเปิดรับกิฟต์ที่ห้องไลฟ์เสียงและวิดีโอ เพื่อให้ผู้ฟังสนับสนุนค่าขนมตามความพึงพอใจ รายได้จากการรับกิฟต์ที่ห้องไลฟ์ 100 เหรียญที่ดีเจและวีเจได้รับจะมีค่า 1 บาท (สำหรับดีเจและวีเจ) หลังจากหักค่าธรรมเนียมช่องทางการจ่ายเงิน (Gateway) 4% ดีเจและวีเจจะได้รับส่วนแบ่งในอัตราส่วน 50% จอยลดาจะได้รับ 50% เป็นค่าบำรุงระบบแอปพลิเคชัน
2.2 รายได้จากยอดหัวใจ (Pool Heart)
ดีเจหรือวีเจสามารถสร้างรายได้จากโบนัสที่ได้รับจากยอดหัวใจ แล้วยอดหัวใจมาจากไหน? ยอดหัวใจมาจากผู้ฟังที่เข้ามากดส่งหัวใจในห้องไลฟ์นั่นเอง ดังนั้นยิ่งได้ยอดหัวใจมากก็จะยิ่งได้รับโบนัสมากด้วยเช่นกัน
โดยรายได้จากยอดหัวใจมาจากค่าโฆษณาที่จอยลดาได้รับจากโปรแกรมโฆษณาอัตโนมัติ (Programmatic Ads) ในแต่ละวัน (ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับ Pool Candy และ Pool Joy) ค่าโฆษณาในวันนั้นจะถูกนำมาเฉลี่ยด้วยจำนวนหัวใจทั้งหมดในแอปพลิเคชันที่มีผู้ฟังกดส่งในวันนั้น และคูณจำนวนยอดหัวใจที่ดีเจหรือวีเจได้รับในวันดังกล่าว
ส่วนที่ 2 เปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา กรณีได้รับเงินได้จากบริษัทฯ ดังต่อไปนี้
1. เงินได้ส่วนแบ่งรายได้จากการไลฟ์เสียงและวิดีโอ
2. เงินได้ส่วนแบ่งรายได้จากกิฟต์ในห้องไฟล์เสียงและวิดีโอ
3. เงินได้ส่วนแบ่งรายได้จากยอดหัวใจ
ผู้ได้รับเงินได้ทั้ง 3 ประเภทข้างต้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า) ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ จะสรุปยอดเงินได้และยอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย และจัดส่งหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50ทวิ) ให้ปีละ 1 ฉบับ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปผ่านช่องทางอีเมลล์ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยผู้มีเงินได้จะต้องนำยอดเงินได้และยอดภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับรวมยื่นในแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วยตนเองตามปีภาษีที่ระบุในหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50ทวิ) ที่ได้รับจากบริษัทฯ โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวจะเริ่มใช้สำหรับรายได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
ส่วนที่ 3 ปรับอัตราราคาเหรียญใหม่
จอยลดาจะมีการปรับอัตราราคาเหรียญให้นักอ่านได้รับจำนวนเหรียญมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนราคาเหรียญและจำนวนเหรียญ ตามค่าบริการผ่านช่องทางการจ่ายเงินของผู้ให้บริการ (Gateway) ในทุกช่องทางการเติมเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
บทความที่เกี่ยวข้อง